วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

(คิด)เป็นระบบหรือไม่เป็นระบบ...อย่างไร?

ระบบ (System) โดยสามัญสำนึก (Common Sense) น่าจะหมายถึงอะไร ๆ ที่มากกว่า 1 อย่าง มาอยู่รวมกันเป็นองค์ประกอบ (Componant) หรือถูกพิจารณารวมกันภายใต้ขอบเขตที่กำหนด (Boundary) และสิ่งเหล่านั้นต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (Relation) ซึ่งหากไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็จะถูกเรียกว่าเป็นเพียงกลุ่มหรือกอง (Heap) ฉะนั้นเมื่อจะกล่าวถึงระบบ (System) ก็จะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ
- ขอบเขต (Boundary) คืออะไร แค่ไหน เช่น ระบบสุขภาพจังหวัดพัทลุง ขอบเขตที่ว่าคือ อะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ของคนในจังหวัดพัทลุง
- อะไร ๆ ที่มากกว่า 1 อย่าง ซึ่งเรียกว่าองค์ประกอบ (Componant) ที่อยู่รวมกันภายใต้ขอบเขตที่กำหนด (Boundary) ข้างต้น หากพิจารณาตามตัวอย่างข้างต้นก็จะหมายถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ตัวคน สถานบริการ บุคลากรสุขภาพ การเงินการคลังสุขภาพ หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นต้น
- ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (Relation) ของอะไร ๆ ที่มีมากกว่า 1 อย่าง หรือองค์ประกอบ (Componant) ภายใต้ขอบเขตที่กำหนด (Boundary) ขึ้นตามข้างต้น หากพิจารณาตามตัวอย่างที่ยกขึ้นไว้ในประเด็นก่อนหน้า สิ่งเหล่านั้นก็จะต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงถึงกัน
กรณีที่ไม่เป็นระบบจะอย่างไร ก็เอาเป็นว่าขาดอย่างใด อย่างหนึ่งไป อาทิไม่มีขอบเขตที่กำหนดขึ้นอย่างชัดเจน มีอะไร ๆ ที่ว่าอยู่เพียงอย่างเดียว หรือสิ่งที่มีอยู่นั้นขาดความเชื่อมโยง ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างนี้จะไม่เป็นระบบ ข้อสังเกตที่จะบอกว่าอะไรเป็นระบบหรือไม่เป็นระบบ เอาง่าย ๆ คือระบบจะแบ่งย่อยได้ แต่ไม่มีลักษณะที่เป็นเหมือนเดิม พูดง่าย ๆ ก็คือหากจะดูว่าเหมือนเดิม หรือให้ผลลัพธ์เหมือนเดิมอีกไหม แล้วลองแบ่งแยกออกดู เมื่อแบ่งแยกย่อยแล้วไม่เหมือนเดิม อันนี้เป็นระบบ (System) แต่หากแบ่งแล้วยังเหมือนเดิมอันนี้จะเป็นเพียงกลุ่มหรือกอง (Heap)
แล้วที่บอกว่าคิดเป็นระบบคืออะไร นี่สิโค้งกลับเข้าสู่หัวเรื่องที่ตั้งไว้ ในทัศนะผมคือการคิดคำนึงถึงองค์ประกอบทุกอย่างในขอบเขตที่กำหนดให้ครอบคลุม ครบถ้วน จากนั้นก็มาพิจารณาที่ความเกี่ยวข้อสัมพันธ์กันแม้จะหลบแอบอยู่ก็ต้องมองให้เห็นพิจารณาให้หมด ทั้งทางตรงทางอ้อม อันนี้ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะเริ่มต้นไม่ได้ดีเสียทีเดียว คิดว่าขบวนการกลุ่มจะช่วยได้มาก ช่วยกันคิด ช่วยกันพิจารณาครับ
การคิดเป็นระบบไม่จำเป็นต้องคิดคนเดียวครับ “กลุ่ม” “ทีม” หรือ “เครือข่าย” จะช่วยได้เยอะมาก วิธีการหนึ่งที่จะทำให้การร่วมกันคิดและพิจารณาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ คือ การ ลปรร. อย่างไม่ค่อยเป็นทางการ เป็นอิสระ ให้เกียรติกัน จะออกมาได้ดีมาก ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างเด่นชัด เมื่อชาวบ้านและภาคีร่วม ในโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ได้ลงมือทำ ผลได้ออกน่าไม่น่าเชื่อเสมอ ไม่ลองไม่รู้ครับ
ให้เครดิตแก่คุณ ชายขอบครับ ^^

ไม่มีความคิดเห็น: