วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เปิดตำราพิชัยสงคราม “ซุนวู”: การวิเคราะห์ระบบ และการบูรณาการ

สวัสดีครับพี่น้อง ผมหายไปนานเลย วันนี้ตั้งใจเอาเรื่อง เปิดตำราพิชัยสงคราม “ซุนวู”: การวิเคราะห์ระบบ และการบูรณาการ มาฝาก
ผมคิดว่าหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ ตำราพิชัยสงครามของท่าน “ซุนวู” ที่กล่าวว่า
“รู้เขารู้เรา สู้ร้อยครั้งชนะร้อยครา” มาบ้างแล้วและผมก็คิดว่าหลายท่าน ก็คงอยากจะได้ตำราเล่มนี้มาไว้เป็นหนึ่งในใจ และในความสามารถของตนเอง แต่ หลายท่านก็คงทำได้แบบ
“จำคำได้ แต่ไม่เข้าใจ” หรือ
“เข้าใจในคำ แต่ไม่เข้าใจในความหมายของคำ” หรือ
“เข้าใจในความหมาย แต่ไม่เข้าใจในเนื้อหา และสาระ” หรือ
“เข้าใจในเนื้อหา แต่ไม่เข้าใจในวิธีปฏิบัติ” หรือ
“เข้าใจในวิธีปฏิบัติ แต่ขาดทักษะ จึงทำไม่เป็น” หรือ
“มีทักษะ ทำเป็น แต่ยังไม่ได้ทำ” หรือ
“ลองทำแล้ว แต่ไม่ลองใช้ในชีวิตจริงๆ” หรือ
“ลองใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สรุปบทเรียน” หรือ
“สรุปบทเรียนแล้ว แต่ยังไม่พัฒนาสู่การพัฒนาทักษะ และกระบวนการเรียนรู้” หรือ
อีกหลายอุปสรรค และขีดจำกัด ที่ทำให้เรายังไม่สามารถนำตำราเรื่องนี้ไปใช้ในชีวิตตนเองได้

ดังนั้นในการที่จะใช้ความรู้จากแหล่งต่างๆมาใช้ประโยชน์นั้น ดังเช่นตำราพิชัยสงคราม “ซุนวู” นี้ ไม่ใช่แค่ท่องได้ก็พอแล้ว แต่จำเป็นต้องมีความเข้าใจในคำ ในความหมาย ในเนื้อหา ในวิธีปฏิบัติ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ลงมือทำ ลองใช้จริง สรุปบทเรียน และนำบทเรียนที่ได้สู่การพัฒนาทักษะ และกระบวนการเรียนรู้ ต่อไป เมื่อย้อนมองในเชิงวิชาการสมัยใหม่นั้น ก็สามารถเทียบเคียงได้กับ “เทคนิคการวิเคราะห์ระบบ” (System analysis) ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ System thinking (คิดอย่างเป็นระบบ) ที่เราทำกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ระยะหลังๆนี้ อาจถือว่าล้าสมัย และเริ่มจะลืมๆกันไป และดูเหมือนเราจะตั้งสมมติฐานว่า ทุกคนในปัจจุบันต้องรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นการฝึกอบรมที่เน้นหัวข้อเรื่อง “ความคิดเชิงระบบ” นี้กันอีกเลย และผมยังไม่แน่ใจว่าพวกเราที่ทำงานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทุกคนมีและใช้ความคิดเชิงระบบมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังไม่มี หรือไม่ใช้ คำว่า “บูรณาการ” ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกเหนือจากการเอาไว้คุยอวดกันเฉยๆ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรในปัจจุบันมีแต่เรื่องที่ยืนอยู่บนฐานของ “ความคิดเชิงระบบ” โดยไม่ฝึกให้เขามีความคิดเชิงระบบกันก่อน จึงทำให้ฐานความคิดไม่แข็งพอที่จะมาพัฒนาต่อได้ เมื่อผู้เรียนขาดความคิดเชิงระบบ การบูรณาการก็ทำได้ยาก การทำงานแบบองค์รวมก็ไม่เกิด ฉะนั้น ผมจึงขอเสนอว่า เราลองมาทบทวนและแทรก “หลักคิดเชิงระบบ” ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในสาขาต่างๆ กันดีไหมครับ ก่อนที่คนรุ่นใหม่จะหลงทางไปไกลเกินไป แล้วระบบการพัฒนาการเรียนรู้ที่ปราศจากฐานที่แข็งแรงนั้น ย่อมมีปัญหาได้ง่าย ในทุกเรื่อง อย่างอาจคาดไม่ถึง ดังสุภาษิตจากหนังจีนกำลังภายในว่า
“พื้นฐานไม่ดี ฝึกร้อยปีไม่ก้าวหน้า” นั้นแหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น: